รำลึก 45 ปี 'อพอลโล่11' ปฏิบัติการมนุษย์เหยียบดวงจันทร์

  • 11 พ.ค. 2563
  • 2661
หางาน,สมัครงาน,งาน,รำลึก 45 ปี 'อพอลโล่11' ปฏิบัติการมนุษย์เหยียบดวงจันทร์

ก่อนหน้านี้ประมาณ 8 ปี หลังจากการเดินทางสู่อวกาศของยูริ กาการิน มนุษย์อวกาศคนแรกของโลก ชาวรัสเซีย มนุษย์คนแรกที่ได้ขึ้นไปโคจรรอบโลก เป็นความยิ่งใหญ่ของรัสเซีย ที่ชิงแซงมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาในการส่งมนุษย์ไปสู่อวกาศ จนตามมาซึ่งคำประกาศที่ถือว่าท้าทายสายตาชาวโลกมากที่สุดของ จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะนั้น ที่ตั้งเป้าหมายที่จะพามนุษย์ไปดวงจันทร์ ในช่วงที่เขายังคงดำรงตำแหน่งอยู่ ด้วยเวลาเพียง 8 เดือน หลังจากที่องค์กรบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือนาซา ได้ตัดสินใจครั้งใหญ่ ในการเดินหน้าโครงการส่งมนุษย์ไปอวกาศในโครงการแรก "เมอคิวรี" เพื่อเตรียมนักบินอวกาศชาวสหรัฐฯ ชุดแรก 7 นาย 

โครงการเมอคิวรีเป็นการเตรียมความพร้อมในการเดินทางสู่อวกาศ ก่อนที่จะไปลงดวงจันทร์ในโครงการอพอลโล และเรื่องนี้ทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่นับหนึ่งกันตั้งแต่ออกแบบจรวดที่จะใช้ส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศ การออกแบบตัวแคปซูลยานที่ต้องปรับความดัน เพื่อที่จะให้นักบินอวกาศ 1 นายนั่ง และสามารถใช้ชีวิตได้ใน 1 วัน โดยมีอาหาร น้ำ และ ออกซิเจนสำหรับหายใจ การฝึกนักบินอวกาศที่แสนสาหัส เรียกได้ว่านักบินอวกาศ 7 คนแรกนี่ไม่ต่างจากการถูกนักวิทยาศาสตร์ทดลอง เพื่อศึกษาผลกระทบที่คาดว่าจะได้รับจากการเดินทางไปในอวกาศ โดยโครงการเมอคิวรีมียานอวกาศทั้งหมด 7 ลำ นักบินอวกาศสหรัฐฯ คนแรกที่เดินทางสู่อวกาศ คือ อลัน บี.เชฟเพิร์ด และคนที่โคจรรอบโลกได้สำเร็จคนแรก คือ นักบินอวกาศ จอห์น เกล็น ทั้งนี้ เมอคิวรีทุกลำประสบความสำเร็จในการเดินทางสู่อวกาศและกลับสู่โลก

จากความสำเร็จของโครงการเมอคิวรีนำมาสู่การเดินหน้าโครงการต่อมา คือ "โครงการเจมินิ" ในช่วงปี 1965-1966 ที่เป็นการนำเอานักบินอวกาศรุ่นที่ 2 และ 3 ของนาซา และนักบินจากกลุ่ม เมอคิวรี 7 ที่ยังเหลืออยู่ คือ กอร์ดอน คูเปอร์ กัส กริสซัม และ วอลเตอร์ เชียร่า ฝึกการเดินทางสู่อวกาศด้วยยานแบบใหม่ 2 ที่นั่ง และเริ่มการทดสอบหลายๆ ด้าน อาทิ การเดินอวกาศ หรือ EVA การทดสอบการเชื่อมต่อ การใช้ชีวิตในอวกาศที่ยาวนาน การกินอาหาร เพื่อเตรียมสู่โครงการอพอลโล และสิ่งที่สำคัญ คือ การกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศแบบปลอดภัย ทั้งนี้ โครงการเจมินิมียานที่ร่วมในโครงการทั้งหมด 12 ลำ โดยยานที่เริ่มมีนักบินบังคับ ได้แก่ เจมินิ 3 ไปจนถึง เจมินิ 12


โครงการอพอลโล เริ่มเห็นกันในปี 1966 หลังจากที่มุ่งออกแบบยานอวกาศ การทำจรวดที่มีแรงขับมากพอที่จะส่งยานอวกาศไปยังดวงจันทร์ จนได้จรวดแซทเทิร์น 1 และ แซทเทิร์น 1 บี ที่ใช้ในการทดสอบปล่อยขึ้นสู่อวกาศแบบไร้นักบิน เพื่อทดสอบเครื่องยนต์จรวด เมื่อเป็นที่มั่นใจแล้ว จึงเดินหน้าพัฒนายานอวกาศและชุดอวกาศที่จะใช้บนดวงจันทร์ สำหรับยานอพอลโลจะประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ยานบังคับการ (Command Module) อันเป็นที่อยู่ของนักบิน 3 นาย และเป็นส่วนที่ใช้เดินทางกลับโลก ยานบริการ (Service Module) เป็นยานที่มีระบบออกซิเจนไฟฟ้า และเชื้อเพลิงสำหรับจุดเครื่องยนต์จรวดเข้าและออกวงโคจรของดวงจันทร์ และยานลงดวงจันทร์ (Lunar Landing Module) บรรทุกนักบิน 2 คน สำหรับลงแตะผิวดวงจันทร์ พร้อมเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มากมาย

ทว่าการเริ่มต้นกลับเป็นความหายนะ เมื่อการทดสอบก่อนการปล่อยยาน ที่มีการให้นักบินเข้าไปนั่งในยานจริงๆ และมีการออกซิเจนบริสุทธิ์ ในการซ้อมเหมือนยานจะเดินทาง แต่เกิดอุบัติเหตุไฟฟ้าขัดข้อง ทำให้เกิดไฟลุกไหม้อย่างรุนแรง คร่าชีวิตนักบินอวกาศ 3 นาย ของโครงการนี้ไป ได้แก่ กัส กริสซัม เอ็ดเวิร์ท ไวท์ และ โรเจอร์ แชฟฟี่ ทำให้โครงการต้องหยุดชะงัก จนมีการสอบสวนสาเหตุ และปรับปรุงยานบังคับการใหม่ เปลี่ยนแบบชุดนักบินอวกาศให้มีคุณสมบัติกันไฟ จึงได้มาสู่การส่งยานอวกาศอพอลโล 8 เดินทางไปสู่ดวงจันทร์ โดยมีมนุษย์อวกาศไปด้วยเป็นเที่ยวแรก ด้วยการใช้จรวดขับดันเชื้อเพลิงเหลวรุ่นล่าสุดขณะนั้น คือ แซทเทิร์น 5 (Saturn V) 

ในช่วงเช้าของวันที่ 16 กรกฎาคม 3 นักบินอวกาศของ ยานอพอลโล 11 ได้แก่ นีล อาร์มสตรอง บัซ อัลดริน และ ไมเคิล คอลลินส์ ได้เข้าประจำตำแหน่ง ณ บนยอดสุดของจรวดแซทเทิร์นไฟว์ จรวดขับดัน 3 ขั้นสูง 363 ฟุต และบรรจุเชื้อเพลิงเพื่อขับดันจรวดพุ่งทะยานสู่อวกาศไว้ถึง 7.5 ล้านปอนด์ ที่ตั้งอยู่บนฐานยิงจรวด 39A ของศูนย์อวกาศเคเนดี้ สำหรับนำพวกเขาไปสู่อวกาศ และอยู่ในประวัติศาสตร์ หลังจากนั้นเมื่อเวลา 9.32 น. ตามเวลาท้องถิ่น เครื่องยนต์ F1 ทั้ง 5 ของจรวดแซทเทิร์น 5 ถูกจุดระเบิด แล้วอพอลโล 11 ก็พ้นจากหอคอยที่เป็นฐานยิง และในอีก 12 นาทีต่อมา พวกเขาก็ได้เดินทางเข้าสู่วงโคจรของโลก

เมื่อยานโคจรรอบโลกได้ 1 รอบครึ่ง อพอลโล 11 ก็เดินหน้าสู่ดวงจันทร์ หลังจากสถานีควบคุมภาคพื้นดิน ออกคำสั่ง “Translunar Injection” เมื่อนักบินอวกาศแยกยานลงดวงจันทร์มาเชื่อมกับส่วนหัวของยานบังคับการ โดย 3 วันต่อมา ลูกเรือของอพอลโล 11 ก็เข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ ระหว่างนี้ อาร์มสตรอง และอัลดริน ปีนเข้าไปอยู่ใน ลูนาร์โมดูล หรือยานลงดวงจันทร์ที่ชื่อว่า “อีเกิ้ล” เพื่อเริ่มต้นภารกิจ ส่วน คอลลินส์ ยังโคจรรอบดวงจันทร์ไปกับยานบังคับการ “โคลัมเบีย”

เมื่อถึงเวลาที่ต้องนำยานอีเกิ้ลแตะพื้นผิวดวงจันทร์ บริเวณที่เรียกว่า “ทะเลแห่งความเงียบสงบ” อาร์มสตรองลงมือบังคับยานด้วยตัวเอง โดยการลงจอดครั้งนี้อาร์มสตรองบังคับยานร่อนลงอย่างระมัดระวัง จนเหลือเชื้อเพลิงอีกไม่ถึง 30 วินาทีเท่านั้น นั่นเป็นเหตุให้ระบบคอมพิวเตอร์บนยานอีเกิ้ล ต่างส่งสัญญาณเตือนแบบร้องระงมไปหมด การตัดสินใจครั้งนี้เป็นเสี้ยวนาทีที่สำคัญเพราะพลาดนิดเดียว พวกเขาจะไม่เหลือเชื้อเพลิงที่จะชะลอการตกสู่พื้นผิวดวงจันทร์
 

หลังจากที่ยานลงดวงจันทร์อีเกิ้ลร่อนลงแตะพื้นดวงจันทร์ ในเวลา 16.18 น. อาร์มสตรองวิทยุกลับมายังศูนย์ภาคพื้นดินว่า "ฮูสตัน นี่ฐานทะเลแห่งความเงียบสงบ ยานอีเกิ้ลได้ลงจอดแล้ว" หลังจากนั้นเสียงภายในห้องควบคุมต่างแซ่ซ้องไปด้วยเสียงโห่ร้องยินดี และได้ตอบวิทยุกลับไปว่า "พวกคุณทำคนที่นี่หน้าเขียว แทบไม่ได้หายใจ แต่เวลานี้พวกเราหายใจได้แล้ว ขอบคุณมาก"


เมื่อถึงเวลา 22.56 น. ตามเวลาท้องถิ่น อาร์มสตรองพร้อมแล้วที่จะประทับรอยเท้ามนุษย์คนแรก ที่ได้เดินทางจากโลกมาถึงดวงจันทร์ โดยมีสายตาของชาวโลกกว่า 5 พันล้านคน เฝ้ามองดูภารกิจของพวกเขา ผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ อาร์มสตรองค่อยๆ ไต่ลงมาตามบันไดยาน และเมื่อเท้าของเขาได้สัมผัสพื้นดวงจันทร์ เขาได้กล่าวประโยคอันเป็นประวัติศาสตร์ว่า “นี่เป็นก้าวเล็กๆ ของผู้ชายคนหนึ่ง แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ” (That’s one small step for a man, one giant leap for mankind.)

 

อัลดรินตามเขาลงมาในระยะเวลาไม่นานนัก และได้ให้คำบรรยายที่ง่ายและแฝงไปด้วยพลังที่มีต่อดวงจันทร์ว่า “เป็นความเวิ้งว้างที่แสนงดงาม” หรือ Magnificent Desolation พวกเขาได้ใช้เวลาปฏิบัติภารกิจ EVA นอกยาน ด้วยการปักธงชาติสหรัฐฯ ติดตั้งเครื่องมือทดลองทางวิทยาศาสตร์ ถ่ายภาพ และเก็บตัวอย่างของหินบนดวงจันทร์ จำนวน 21.5 กิโลกรัม พวกเขาใช้เวลาบนดวงจันทร์ไปทั้งหมด 2 ชั่วโมง 31 นาที 40 วินาที

พวกเขาได้ทิ้งธงชาติสหรัฐฯ และป้ายเกียรติยศแก่ลูกเรือของยานอพอลโล 1 ทั้ง 3 ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเพลิงไหม้ยานบังคับการในการฝึกซ้อมภาคพื้นดิน ไว้กับขาของยานอีเกิ้ล ที่อ่านได้ว่า “Here men from the planet Earth first set foot upon the moon. July 1969 A.D. We came in peace for all mankind.” 

อาร์มสตรองกับอัลดรินได้จุดระเบิดนำยานอีเกิ้ลส่วนบน ลอยขึ้นกลับไปเชื่อมต่อกับยานบริการโคลัมเบีย ที่มีคอลลินส์ บังคับมารออยู่บนวงโคจร ภายหลังคอลลินส์ได้กล่าวว่า ในภารกิจครั้งแรก นี่เป็นช่วงรู้สึกว่าได้ปล่อยภาระทุกอย่างที่แบกไว้ไปหมดจริงๆ ลูกเรือของอพอลโล 11 เดินทางกลับสู่พื้นโลก หลังจากยานของพวกเขาได้สัมผัสผิวน้ำทะล บริเวณเกาะฮาวาย ในวันที่ 24 ก.ค.1969 ในที่สุดสิ่งท้าทายของอดีตประธานาธิบดีเคนเนดี้ได้บรรลุผล เมื่อกลุ่มชายจากโลกมนุษย์ได้เดินทางจากบ้านไปเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ และพวกเขาสามารถเดินทางกลับสู่โลกได้อย่างปลอดภัย และเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งนักบินอวกาศไปลงดวงจันทร์ กับยานอพอลโลอีกหลายลำในเวลาต่อมา
 

วันนี้ 45 ปีหลังจากความสำเร็จของโครงการอพอลโล นาซาก็ประกาศเดินหน้าในการสำรวจอวกาศส่วนลึก การนำมนุษย์กลับไปยังดวงจันทร์ และการสำรวจดาวอังคาร โดย ชาล์ส โบลเดนท์ ผู้อำนวยการนาซา (Administrator of NASA) อดีตนักบินอวกาศของโครงการกระสวยอวกาศ และนาวิกโยธินสหรัฐฯ ผ่านยูทูบของช่องนาซา 

ในการนำนาซาและมนุษยชาติไปสู่จุดหมายปลายทางใหม่ และการสำรวจครั้งใหม่ ตัวเขาเองก็ได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในผู้เห็นการถ่ายทอดสดการเดินทางของยานอพอลโล 11 จากทีวีขาวดำในสมัยนั้น กลายเป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้เขาได้มุ่งสู่การเป็นนักบินของหน่วยนาวิกโยธิน และนักบินอวกาศของนาซา เพื่อได้ตามรอยเท้าของนักบินอวกาศอย่างนีล อาร์มสตรอง บัซ อัลดริน และ ไมเคิล คอลลินส์ ที่ผลักดันให้คนหนุ่มสาวเข้ามาเป็นนักบินอวกาศรุ่นใหม่

 

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top